
รวมโรคผิวหนังแมวที่พบบ่อย พร้อมวิธีดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
โรคผิวหนังแมว เป็นหนึ่งในปัญหาที่สร้างความกวนใจให้กับใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ตัวน้องแมว เจ้าของสัตว์เลี้ยง หรือสัตวแพทย์ เพราะเป็นกลุ่มโรคที่ระบุหาสาเหตุที่แท้จริงได้ยาก มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังในแมว อีกทั้งรักษาให้หายดีแล้วก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเพื่อให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถสังเกตเบื้องต้นได้ว่าน้องแมวเป็นโรคผิวหนัง สามารถดูแลรักษาโรคผิวหนังแมวเบื้องต้นไม่ให้ลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ หรือมีอาการแย่ลง โรงพยาบาลสัตว์แอทโมส จะพาไปทำความรู้จักกับโรคผิวหนังแมวพบบ่อยอย่างละเอียดเอง รับรองว่าอ่านจบแล้วจะช่วยให้คุณรู้จักกับโรคผิวหนังในแมวมากขึ้นอย่างแน่นอน
รวม 7 โรคผิวหนังแมวที่พบบ่อย มีอะไรบ้าง?
โรคผิวหนังแมวสามารถแบ่งย่อยได้หลายโรคมาก ซึ่งแต่ละโรคก็จะมีสาเหตุ อาการ และระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไป จึงทำให้เราต้องสังเกตอาการป่วยของน้องแมวและระบุปัญหาที่เกิดขึ้นให้ดี ไม่อย่างนั้นจะทำให้รักษาไม่ตรงจุด และทำให้ไม่หายได้ โดยโรคผิวหนังในแมวที่พบได้บ่อย ๆ มีดังนี้
1. โรคหิดในแมว
โรคหิดในแมว คือ โรคที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะต้องระมัดระวังให้ดี เพราะสามารถติดต่อจากแมวสู่คนได้ โดยหิดจะเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เหมือนขี้เรื้อน สามารถชอนไชลงไปในผิวหนังแล้วทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามได้ เช่น ขนร่วง เกาไม่หยุด ติดเชื้อ ผิวหนังอักเสบ หรือเกิดอาการบวม
โรคหิดในแมวนั้น แม้ว่าจะฟังดูร้ายแรง แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ เพียงแค่แยกแมวตัวที่ป่วยออกจากแมวตัวอื่น ๆ และใช้ยากำจัดเห็บหมัด ร่วมกับเปลี่ยนผ้าปูที่นอนและทำความสะอาดสถานที่อยู่ด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ทำให้เห็บ หมัด และหิดตาย ก็เรียบร้อยแล้ว
2. ไรในหู
ไรในหู (Otodectes cynotis) เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคผิวหนังแมวที่พบบ่อยไม่แพ้กัน โดยไรในหูจะเป็นแมลงที่ดำรงชีวิตแบบพยาธิภายนอก ส่วนมากจะพบในช่องหู และสามารถติดต่อกันระหว่างสัตว์เลี้ยงได้ง่ายมาก ๆ ผ่านการสัมผัสโดนกัน
ไรในหูนั้นจะทำให้เกิดอาการดังนี้
- คันหู เกาหู และสะบัดหัวบ่อยครั้ง
- มีขี้หูสีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำจำนวนมาก
- พบขนร่วง หรือมีแผลบริเวณใกล้ ๆ หู ซึ่งเกิดจากการเกาผิวหนังเวลาที่น้องแมวคัน
- มีคราบ หรือสะเก็ดบริเวณช่องหู
- เส้นเลือดฝอยบริเวณหูแตกจนเกิดอาการคั่งเลือด (พบได้น้อย) เกิดจากการเกาผิวหนังอย่างรุนแรง
การรักษาโรคไรในหูนั้นทำได้ไม่ยาก แค่ทำความสะอาดช่องหูและใบหูให้เรียบร้อย และใช้ยาหยอดที่ช่องหูที่สั่งจ่ายโดยสัตวแพทย์ ร่วมกับใช้ยาหยอดหลังคอเพื่อรักษาและป้องกันไรในหูในอนาคต ทำทุก ๆ 2 สัปดาห์ ติดต่อกันอย่างน้อย 1 เดือน ก็จะทำให้อาการดีขึ้นเอง
3. สิวในแมว
รู้หรือไม่ว่าน้องแมวก็เป็นสิวได้เหมือนกับเจ้าของเลย โดยบริเวณที่พบสิวได้บ่อย ๆ ก็คือ ใต้คางและโคนหาง เกิดจากการทำงานมากเกินไปของต่อมไขมัน ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในแมวเพศผู้ จึงทำให้พบสิวในแมวเพศผู้ที่ยังไม่ได้ทำหมันได้บ่อย ๆ
แม้ว่าสิวในแมวจะไม่ได้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย แต่ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้ ไม่ดูแลรักษาให้ดี ทำให้น้องแมวมีสิวเกิดขึ้นที่บริเวณเดิมซ้ำ ๆ เป็น ๆ หาย ๆ ก็อาจนำไปสู่การติดเชื้อแทรกซ้อนได้
สำหรับวิธีการรักษาสิวในแมวนั้น สามารถทำได้ด้วยการเช็ดน้ำเกลือล้างแผลสะอาด หรือคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) บริเวณรอบ ๆ ที่เป็นสิว หรืออาบน้ำน้องแมวด้วยแชมพูยาเพื่อกำจัดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิว โดยให้ทำติดต่อกันทุก ๆ สัปดาห์จนกว่าอาการน้องแมวจะดีขึ้น แล้วค่อยลดตัวยาลง และดูแลสุขอนามัยของน้องแมวให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก

4. โรคผิวหนังอักเสบจากการแพ้อาหาร
นอกจากเป็นสิวแล้ว น้องแมวก็ยังแพ้อาหารได้ด้วย โดยอาการแพ้อาหารจะทำให้น้องแมวมีอาการคันเรื้อรังตลอดทั้งปี และเมื่อน้องแมวเกา เลีย หรือกัดบริเวณที่คันอยู่ซ้ำ ๆ จะทำให้ขนร่วง เกิดรอยถลอก เกิดบาดแผล และนำไปสู่การเป็นโรคผิวหนังอักเสบได้ในที่สุด
หากสังเกตเห็นว่าน้องแมวมีอาการคันที่เดิมอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ใบหน้า หู ท้อง ขาหนีบ รักแร้ อุ้งเท้า หรือดิ้นเพราะคันบริเวณทวารหนัก หรือมีอาการท้องร่วง หรืออาเจียน ควรพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
5. ขนร่วงจากความเครียด
น้องแมวที่มีความเครียดมาก ๆ จะเลียขนเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งถ้าเลียขนบ่อย ๆ ที่เดิมซ้ำ ๆ ก็จะทำให้เกิดอาการขนร่วงเป็นกระจุกได้ ซึ่งบางตัวอาจเลียขนตัวเองจนขนร่วงหมดเลยก็ได้
แม้ว่าจะดูเป็นอาการที่ไม่ร้ายแรง แต่เจ้าของสัตว์เลี้ยงก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะถ้าแมวเครียดมาก ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็น เบื่ออาหาร ระบบทางเดินอาหารแปรปรวน หรือมีนิสัยก้าวร้าวขึ้น
สำหรับวิธีรักษาแมวให้หายจากความเครียด จะต้องดูก่อนว่าสาเหตุความเครียดของแมวคืออะไร และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้น้องแมวเครียด ร่วมกับเพิ่มปัจจัยต่าง ๆ ที่ช่วยให้น้องแมวสบายใจมากขึ้น เช่น เพิ่มจำนวนกระบะทรายและชามอาหาร ในกรณีที่เลี้ยงแมวหลายตัว หาซื้อน้ำพุมาให้แมวเล่น หรือใช้ฟีโรโมนแมวเพื่อบรรเทาความเครียด เป็นต้น
6. โรคเชื้อราแมว
น้องแมวเป็นเชื้อรา เป็นอีกหนึ่งโรคผิวหนังแมวที่สร้างความกังวลใจให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่น้อย เพราะไม่เพียงแค่สามารถติดต่อจากแมวสู่แมวด้วยกันเท่านั้น แต่ยังสามารถติดต่อสู่คนได้อีกด้วย โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคนี้จะมาจากเชื้อราที่มีชื่อว่า “Microsporum Canis” ซึ่งเป็นเชื้อราที่จะเกิดบนร่างกายในบริเวณที่มีความชื้นสะสม
โรคเชื้อราแมวนั้น จะทำให้มีขนร่วงหลุดเป็นหย่อม ๆ มีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง ตุ่มแดง ผิวแห้ง ลอกเป็นขุย ๆ และตกสะเก็ดเป็นรังแค
ถ้าหากพบว่าน้องแมวมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลรักษาที่เหมาะกับแต่ละตัว เพราะแมวบางตัวอาจรักษาด้วยการกินยาร่วมกับใช้แชมพูยาได้ ในขณะที่แมวบางตัวจะใช้ได้แค่แชมพูยาเท่านั้น อีกทั้งโรคเชื้อราแมวยังใช้ระยะเวลารักษานาน ประมาณ 1-2 เดือน กว่าน้องแมวจะหายดี ถ้ารักษาไม่ถูกจุด ก็อาจทำให้น้องแมวไม่หาย และเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
7. ผิวหนังอักเสบจากโรคต่อมไร้ท่อ
เป็นโรคผิวหนังในแมวที่เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน ทำให้มีผิวแห้ง ขนร่วง คัน และมีสะเก็ดรังแค จัดเป็นโรคผิวหนังแมวที่ตรวจพบได้ยาก ถ้าหากพบว่าน้องแมวมีอาการเหล่านี้แล้วลองรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล ก็อาจแสดงว่าเป็นอาการผิดปกติจากต่อมไร้ท่อ จำเป็นต้องรักษาด้วยการทำหมันเพื่อให้ฮอร์โมนสมดุลขึ้น
ลักษณะอาการที่อาจบ่งบอกว่าน้องแมวเป็นโรคผิวหนังแมว
เพื่อให้คุณสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ว่าน้องแมวกำลังมีปัญหาโรคผิวหนังหรือเปล่า เราได้สรุปอาการที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคผิวหนังแมวมาให้แล้ว จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย
- ผิวหนังอักเสบ
- ผิวหนังเป็นแผล หรือมีสะเก็ดแผล
- ผิวหนังแห้งเป็นขุย
- ขนร่วง ทั้งขนร่วงเป็นหย่อม ๆ ขนร่วงเป็นกระจก
- เลียขนบ่อยกว่าปกติ
- มีอาการคัน เกา หรือกัดที่เดิมซ้ำ ๆ จนทำให้เกิดแผล
- เป็นก้อนเนื้อนูนอยู่บนตัว
- ผื่นแดง ตุ่มแดงขึ้นตามผิวหนัง
วิธีดูแลรักษาโรคผิวหนังแมวเบื้องต้น

หากพบว่าน้องแมวมีความเสี่ยงเป็นโรคผิวหนังแมว แนะนำให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุทันที เพราะแมวเด็กและแมวโตจะมีวิธีรักษาที่แตกต่างกัน โดยให้หลีกเลี่ยงการอาบน้ำแมว หรือทายาม่วงทับรอยโรค เพราะจะทำให้สัตวแพทย์วินิจฉัยได้ยากขึ้นอย่างไรก็ตาม ถ้ายังไม่สะดวกที่จะพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์จริง ๆ หากอาการโรคผิวหนังแมวไม่ได้มีการอักเสบ หรือเกิดการติดเชื้อ ก็สามารถรักษาด้วยการแยกแมวป่วยออกจากแมวตัวอื่น ๆ แล้วใช้แชมพูยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อบรรเทาอาการ และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดบริเวณสถานที่อยู่อาศัยไปก่อนก็ได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าแมวหายเป็นเชื้อราแล้ว
หากแผลจากเชื้อราสมานตัวดี บริเวณรอยโรคเก่ามีขนใหม่ขึ้นมาแทนที่จนเต็ม ไม่พบรอยโรคใหม่ และน้องแมวไม่มีอาการคันจนต้องเกาบริเวณที่มีรอยโรคแล้ว ก็แสดงว่าน้องแมวหายจากการเป็นเชื้อราแล้ว หรืออาจไปหาสัตวแพทย์เพื่อทำการเพาะเชื้อราตรวจได้
สรุปเรื่องโรคผิวหนังแมว
เป็นอย่างไรกันบ้างกับข้อมูลเกี่ยวกับโรคผิวหนังแมวที่พบบ่อยที่เรานำมาฝากในบทความนี้ จะเห็นได้ว่าโรคผิวหนังในแมวมีหลายโรคมาก และแต่ละโรคก็จะมีลักษณะอาการ สาเหตุ และวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงควรที่จะดูแลน้องแมวด้วยความใส่ใจ พาไปฉีดวัคซีนแมวและตรวจสุขภาพในช่วงวัยที่เหมาะสม ให้ความสำคัญกับความสะอาดและสุขอนามัย ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้น้องแมวเป็นโรคผิวหนัง หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้นั่นเอง