รวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับโรคระบบประสาทในสุนัขและแมว
เจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายคนอาจสงสัยว่า น้องหมา น้องแมว สามารถเป็นโรคระบบประสาทได้จริงเหรอ? แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงของเราเป็นโรคระบบประสาท? เพราะน้องหมาน้องแมวไม่สามารถบอกกับเราได้โดยตรง แต่ไม่จำเป็นต้องกังวลไป เพราะโรงพยาบาลสัตว์แอทโมสจะพาไปทำความรู้จักกับโรคระบบประสาทในสุนัขและแมวเอง
รู้จักโรคระบบประสาทในสุนัขและแมว
โรคระบบประสาทในสุนัขและแมว คือ โรค หรืออาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดจากสมอง ไขสันหลัง กระดูกสันหลัง เส้นประสาท หรือสารสื่อประสาท เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับสุนัขและแมวในทุกช่วงวัย และเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายแต่กำเนิด ภาวะติดเชื้อ หรือได้รับการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เป็นต้น
โรคระบบประสาทในสุนัขและแมวมีอะไรบ้าง?
โรคระบบประสาทในสุนัขและแมวมีหลายโรคมาก ซึ่งแต่ละโรคก็จะมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป เช่น
- โรคสมองเสื่อมในสัตว์เลี้ยง (Cognitive Dysfunction Syndrome : CDS) : หรือที่นิยมเรียกกันว่า “โรคอัลไซเมอร์” มักพบในสุนัขมากกว่าแมว โดยจะพบได้ตั้งแต่สัตว์เลี้ยงมีอายุ 7 – 8 ปีขึ้นไป
- โรคสมองอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ : เกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น เชื้อพยาธิเม็ดเลือด แบคทีเรีย เชื้อไวรัสกลุ่มพาร์โวไวรัส (Feline Parvovirus) หรือโรคไข้หัดสุนัข (Canine distemper virus) เป็นต้น
- ภาวะสมองบวมน้ำ (Hydrocephalus) : เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เกิดจากของเหลวไม่สามารถระบายจากระบบประสาทส่วนกลาง และทำให้มีของเหลวในโพรงของสมองมากกว่าปกติ ทำให้สุนัขมีขนาดหัวใหญ่กว่าตัวจนเห็นได้ชัด
- โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท : มักพบในน้องหมาที่มีอายุมากแล้ว หรือสายพันธุ์ที่มีขาสั้น เช่น คอร์กี้ ดัชชุน หรือชิห์สุ โดยเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ หรือสุนัขมีน้ำหนักตัวมากเกินไป จนทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนไปทับเส้นประสาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวและการทำงานของร่างกาย
- โรคลมชัก : เกิดจากความผิดปกติของการส่งกระแสประสาทในสมอง ทำให้สัตว์เลี้ยงไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ชั่วขณะ แล้วทำให้เกิดอาการเกร็งกระตุกทั้งร่างกาย ขับถ่ายไม่รู้ตัว หรือหมดสติตามมา มักพบในสุนัขที่มีอายุระหว่าง 2 – 6 ปี
- ภาวะอัมพฤกษ์/อัมพาต : ส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่พัฒนามาจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จึงทำให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์/อัมพาตตามมา
- ภาวะติดเชื้อไขสันหลัง : สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ มักเกิดจากการไม่รักษาสุขอนามัยให้สัตว์เลี้ยง และไม่พาไปฉีดวัคซีนตามช่วงวัยที่เหมาะสม ทำให้สัตว์เลี้ยงมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง และติดเชื้อได้ง่ายจนนำไปสู่การติดเชื้อไขสันหลังนั่นเอง
ลักษณะอาการที่อาจบ่งบอกว่าหมาหรือแมวเป็นโรคระบบประสาท
เนื่องจากโรคระบบประสาทในสุนัขและแมวมีหลายโรคมาก แต่ละโรคก็จะมีลักษณะอาการแตกต่างกันไป และอาจคล้ายกับโรคผิดปกติอื่น ๆ จึงทำให้ระบุได้ยากว่าน้องหมา หรือน้องแมวเป็นโรคระบบประสาทจริง ๆ หรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากน้องหมาน้องแมวมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคระบบประสาทได้
- มีอาการซึม ชอบนอนเฉย ๆ ไม่ค่อยยอมเดิน หรือยอมให้จับตัว
- จับตัวน้องหมาน้องแมว แล้วมีอาการเกร็งตัว ยืนหลังโกร่ง หรือจับแล้วร้อง
- มีอาการมึนงง หลงทิศทาง เดินเซ หัวเอียง
- มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เล่นกับสัตว์ตัวอื่น ๆ หรือเจ้าของเหมือนเดิม
- วงจรการนอนหลับผิดปกติ เช่น นอนตอนกลางวันมากขึ้น และตื่นตอนการคืนบ่อย
- สูญเสียความสามารถในการดูแลสุขลักษณะของตัวเอง เช่น สุนัขขับถ่ายไม่เป็นที่ หรือแมวไม่ขับถ่ายในกระบะทรายเหมือนเดิม
- สุนัข หรือแมวเดินลากขา ขาหลังอ่อนแรง เคลื่อนไหวได้ช้าลง
- มีอาการชัก
แนวทางการวินิจฉัยโรคระบบประสาทในสุนัขและแมว
แนวทางการวินิจฉัยโรคระบบประสาทในสุนัขและแมวจะขึ้นอยู่กับพิจารณาของสัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา โดยสามารถตรวจได้หลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น
- ประเมินภาวะรู้สึกตัว อารมณ์ และการตอบสนองอื่น ๆ ของสัตว์เลี้ยง
- ประเมินความสามารถในการทรงตัวและควบคุมร่างกายของสัตว์เลี้ยงในขณะพัก
- ทดสอบการทำงานและตอบสนองของระบบประสาทต่าง ๆ โดยใช้มือสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง
- ทดสอบการรับรู้ความเจ็บปวดของสัตว์เลี้ยง
- ตรวจวิเคราะห์น้ำไขสันหลัง
- ตรวจระบบประสาทไขสันหลัง (Myelography) ด้วยการฉีดสารทึบรังสี
- ตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เอกซเรย์กระดูก อัลตราซาวด์สมอง หรือ CT scan และ MRI
โรคระบบประสาทในสุนัขและแมวรักษาได้ไหม?
แนวทางการรักษาโรคระบบประสาทในสุนัขและแมวจะแตกต่างกันไปตามโรคที่น้อง ๆ เป็นอยู่ แต่สิ่งที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะต้องรู้เลยก็คือ ส่วนประกอบของระบบประสาทต่าง ๆ รวมไปถึงเส้นประสาท ไขสันหลัง และสมอง เป็นอวัยวะที่ไม่สามารถทดแทนได้ ถ้าเกิดความเสียหายแล้วมักจะมีผลไปตลอดชีวิต ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
อย่างไรก็ตาม หากน้องหมาน้องแมวได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ได้รับความรักและกำลังใจจากเจ้าของ ก็จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ แล้วทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้
สรุปเรื่องโรคระบบประสาทในสุนัขและแมว
จะเห็นได้ว่า โรคระบบประสาทในสุนัขและแมวมีหลายโรคมาก แต่ละโรคก็ล้วนรักษาได้ยาก และสามารถทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายตลอดชีวิตได้ ดังนั้นวิธีรับมือกับโรคระบบประสาทในสัตว์เลี้ยงได้ดีที่สุดก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโรค เช่น ฉีดวัคซีนสุนัข หรือวัคซีนแมวในช่วงวัยที่เหมาะสม รักษาสุขอนามัยของสัตว์เลี้ยงให้ดี ไม่ปล่อยให้น้องหมาน้องแมวมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป และระวังเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น