รวมเรื่องต้องรู้เมื่อแมวเป็นโรคไต
เชื่อว่าเหล่าทาสแมวหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “โรคไตวายในแมว” มาก่อน แต่ยังไม่รู้ว่าไตวายในแมวเกิดจากสาเหตุใด หรือไม่รู้วิธีสังเกตว่าแมวเป็นโรคไตหรือเปล่า เพื่อให้คุณสามารถดูแลน้องแมวได้อย่างเหมาะสม ทำให้เจ้าเหมียวมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคไต โรงพยาบาลสัตว์แอทโมสจะพาคุณไปทำความรู้จักกับโรคนี้เอง
แมวเป็นโรคไตเกิดจากอะไร?
โรคไตวายในแมว คือ โรคที่เกิดจากการทำงานของไตผิดปกติ ทำให้ร่างกายของน้องแมวไม่สามารถขับของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามมา จัดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมก็อาจทำให้น้องแมวเสียชีวิตได้
แมวเป็นโรคไตนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
- ไตวายเฉียบพลัน : เป็นภาวะที่ไตทำหน้าที่ลดลงในทันที เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ได้รับสารพิษ มีการอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือการขาดเลือดไปเลี้ยงไตอย่างฉับพลัน เป็นต้น
- ไตวายเรื้อรัง : เป็นภาวะที่ไตทำหน้าที่ได้ลดลงทีละน้อย ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน กว่าจะรู้ตัวก็ทำให้เกิดอาการป่วยเสียแล้ว เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคทางกรรมพันธุ์ ความเสื่อมของร่างกายตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมกับแมว หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น
แมวเป็นโรคไตมีอาการอย่างไร?
อาการทั่วไปของภาวะไตวายในแมวสามารถสังเกตได้ยาก เพราะมีอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ เช่น เบาหวาน หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ถ้าพบว่าน้องแมวมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุตั้งแต่เนิ่น ๆ จะดีที่สุด เพราะอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าแมวเป็นโรคไตได้
- ดื่มน้ำและปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ : เกิดจากหน่วยไตถูกทำลายจนไม่สามารถดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้น้องแมวต้องปัสสาวะออกมาก และต้องดื่มน้ำมากขึ้น
- เบื่ออาหารและน้ำหนักตัวลดลง : เกิดจากไตไม่สามารถขับของเสียออกจากกระแสเลือดได้ ทำให้มีของเสียตกค้างอยู่ในกระแสเลือดมาก ส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัว ไม่อยากกินอาหาร
- แมวมีกลิ่นปาก : เกิดจากการมีแผลในช่องปาก หรือมีแผลร้อนไหน ซึ่งเป็นหนึ่งในผลข้างเคียงของโรคไตวายเรื้อรังในแมว
- แมวง่วงซึม เฉื่อยชา ไม่ค่อยเคลื่อนไหว : เกิดจากการผลิตฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) ลดลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงที่คอยขนส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง และส่งผลให้แมวง่วงซึมและอ่อนแรงตามมา
- อาการผิดปกติอื่น ๆ ที่พบได้เมื่อแมวเป็นโรคไต : ท้องเสีย ถ่ายเหลว อาเจียน ขนไม่เงางาม ขนหยาบ ถ่ายเป็นสีดำ ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะมีเลือดปน และอาการชัก
แมวเป็นโรคไตรักษาได้ไหม?
หากน้องแมวเป็นไตวายเฉียบพลัน แม้ว่าจะมีโอกาสทำให้สัตว์เลี้ยงมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงมาก แต่ถ้าหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็มีโอกาสสูงที่ไตจะกลับมาทำงานปกติ
หากน้องแมวเป็นไตวายเรื้อรัง จะไม่สามารถรักษาให้ไตกลับมาทำงานปกติได้ แต่เราสามารถดูแลน้องแมวตามคำแนะนำของสัตวแพทย์เพื่อชะลอการเสื่อมสภาพของไต และทำให้สัตว์เลี้ยงมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น เช่น
- ควบคุมอาหารและโภชนบำบัด
- ให้สารน้ำทางเส้นเลือดเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย
- ให้น้ำเกลือใต้ผิวหนังแมว
- ให้ยาต่าง ๆ เพื่อรักษาตามอาการ เป็นต้น
ค่าไตในแมวสูงจะมีโอกาสหายไหม?
ในกรณีที่น้องแมวยังไม่ได้เป็นโรคไตวายเรื้อรัง หรือไตวายเฉียบพลัน เราสามารถทำให้ค่าไตของน้องแมวกลับมาเป็นปกติได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ค่าไตของน้องแมวขึ้นสูง เช่น ปรับโภชนาการอาหารให้เหมาะสมกับน้องแมว ให้แมวดื่มน้ำสะอาด ระวังไม่ให้ไปกินน้ำในห้องน้ำ หรือโถส้วม หลีกเลี่ยงไม่ให้น้องแมวรับประทานอาหารของคน หรือดูแลสุขภาพจิตใจของน้องแมวให้ดี ไม่ปล่อยให้น้องแมวเครียด เป็นต้น
แมวเป็นโรคไตควรกินอาหารแบบไหน?
อาหารที่เหมาะสำหรับน้องแมวที่เป็นโรคไตจะจัดอยู่ในกลุ่ม Kidney Care โดยจะเป็นสูตรที่ลดปริมาณโปรตีน ฟอสฟอรัส และโซเดียมลง แต่ยังมีสารอาหารที่แมวต้องการอย่างครบถ้วนอยู่
แมวเป็นโรคไตห้ามกินอะไรบ้าง?
หากน้องแมวเป็นโรคไต ไม่ควรให้น้องแมวรับประทานอาหารแมวสูตรปกติ เพราะจะได้รับปริมาณโปรตีน ฟอสฟอรัส และโซเดียมมากเกินไป ซึ่งน้องแมวจะไม่สามารถขับออกได้หมด ทำให้ตกค้างอยู่ในกระแสเลือด และนำไปสู่การเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้จะต้องงดให้น้องแมวรับประทานอาหารของคน อาหารแปรรูป อาหารที่ผ่านการปรุงรส รวมไปถึงเครื่องในต่าง ๆ ด้วย
แมวเป็นโรคไตค่ารักษาพยาบาลเท่าไหร่?
ค่ารักษาพยาบาลสำหรับแมวที่เป็นโรคไตจะแตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าน้องแมวต้องได้รับการรักษาอะไรบ้าง เช่น ตรวจเลือด ตรวจอัลตราซาวด์ การให้น้ำเกลือ ให้ยาฆ่าเชื้อโรค หรือจ่ายยารักษาโรคไต ถ้าหากอยากทราบราคาค่ารักษาที่แน่นอน แนะนำให้สอบถามกับทางโรงพยาบาลสัตว์ที่เข้าใช้บริการจะถูกต้องที่สุด
แนะนำวิธีดูแลน้องแมวให้ห่างไกลจากโรคไต
โรคไตในแมวเป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดงในระยะแรกเริ่ม กว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะรู้ตัวอีกที น้องแมวก็เป็นโรคไตไปแล้ว ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับโรคไตในแมวจึงเป็นการดูแลน้องแมวไม่ให้เป็นโรคไตตั้งแต่ต้น โดยแนะนำให้ดูแลน้องแมวด้วยวิธีต่อไปนี้
- เลือกอาหารแมวที่มีคุณภาพดี สารอาหารครบถ้วน ปริมาณโซเดียมเหมาะสม
- ให้แมวกินอาหารแมวในปริมาณที่เหมาะสมกับอายุ ระมัดระวังไม่ให้แมวมีน้ำหนักตัวมาเกิดนไป
- งดการให้แมวรับประทานอาหารคนทุกชนิด ถ้าอยากเพิ่มโปรตีนให้ใช้อกไก่ต้ม หรือปลาต้มที่ไม่ปรุงรสแทน
- ไม่ให้ขนมน้องแมวบ่อยเกินไป ไม่ว่าจะเป็น ขนมแมวเลีย หรือขนมเม็ด เพราะขนมแมวมักจะมีรสชาติเข้มข้นและโซเดียมสูงกว่าปกติ
- ให้แมวกินน้ำสะอาด และเปลี่ยนน้ำให้แมวทุกวัน ระมัดระวังไม่ให้แมวไปกินน้ำในห้องน้ำ
- พาน้องแมวไปฉีดวัคซีนแมวตามช่วงวัยที่เหมาะสม ตรวจสุขภาพและตรวจเลือดเป็นประจำทุกปี
สรุปเรื่องแมวเป็นโรคไต
จะเห็นได้ว่า โรคไตในแมวแม้ว่าจะเป็นโรคที่ดูน่ากลัว เมื่อเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราก็สามารถป้องกันไม่ให้แมวเป็นโรคไตได้ด้วยการดูแลน้องแมวอย่างเหมาะสม พาไปตรวจสุขภาพและตรวจเลือดเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม ถ้าน้องแมวป่วยเป็นโรคไตแล้ว ก็ไม่ควรที่จะหมดหวัง เพราะเราสามารถดูแลน้องแมวตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อชะลออาการเสื่อมของไต ทำให้น้องแมวมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอายุยืนขึ้นได้