1. icon-home
  2. บทความ
  3. เริ่มฉีดวัคซีนแมวเข็มแรกตอนไหนดี อยากให้น้องแมวมีสุขภาพดีต้องอ่าน!
icon-share
แชร์

เริ่มฉีดวัคซีนแมวเข็มแรกตอนไหนดี อยากให้น้องแมวมีสุขภาพดีต้องอ่าน!

นอกจากการดูแลเอาใจใส่ในด้านอาหาร ที่อยู่ ของกินของเล่น และการให้ความรักแล้ว การฉีดวัคซีนแมวก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เหล่าทาสแมวไม่ควรละเลย เพื่อที่น้องแมวจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรง และมีความสุข สำหรับใครที่เพิ่งเลี้ยงแมวเป็นครั้งแรก ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้องพาน้องแมวไปฉีดวัคซีนตอนอายุเท่าไหร่ดี โรงพยาบาลสัตว์แอทโมสได้รวมข้อมูลที่ต้องรู้เกี่ยวกับวัคซีนแมวมาให้แล้ว จะน่าสนใจแค่ไหน ไปดูกันเลย

เราจำเป็นต้องพาน้องแมวไปฉีดวัคซีนแมวไหม?

โรคติดเชื้อในแมวมีหลายโรคมาก เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไข้หัดแมว โรคลำไส้อักเสบในแมว โรคช่องท้องอักเสบติดต่อ หรือโรคเอดส์แมว ซึ่งโรคบางโรคเป็นโรคที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่สามารถรักษาได้ หรือโรคก็สามารถติดต่อจากแมวสู่คนได้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพื้นฐาน หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “วัคซีนแมว” จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยสร้างเกราะป้องกันโรค และกระตุ้นร่างกายของน้องแมวให้มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสต่าง ๆ ช่วยลดโอกาสการเกิดโรค บรรเทาความรุนแรงเมื่อเกิดโรค และลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก ซึ่งนอกจากจะทำให้น้องแมวมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาน้องแมวในอนาคตด้วย

วัคซีนแมวมีอะไรบ้าง?

พ่อแม่แมวมือใหม่หลายคนอาจสงสัยว่าวัคซีนแมวที่ต้องฉีดมีอะไรบ้าง และควรเริ่มต้นฉีดวัคซีนอย่างไร โรงพยาบาลสัตว์แอทโมสได้รวมวัคซีนที่สำคัญสำหรับน้องแมวมาให้แล้ว แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้

1. วัคซีนโรคหลัก

วัคซีนโรคหลักจะเป็นวัคซีนสำคัญที่น้องแมวทุกตัวจะต้องฉีด มีรายละเอียดดังนี้

  • วัคซีนรวมในแมว : เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคไข้หัดแมว (ลำไส้อักเสบในแมว) โรคไข้หวัดแมวจากเชื้อไวรัสเริม (Herpes virus)  โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคช่องปากและลิ้นอักเสบ มีราคาเริ่มที่ต้นที่เข็มละ 380 บาท
  • วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine) : เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด จัดเป็นโรคอันตรายที่เมื่อเป็นแล้วจะไม่มีวิธีรักษา และทำให้เสียชีวิตได้ มีราคาเริ่มที่ต้นที่เข็มละ 100 บาท
  • วัคซีนป้องกันโรคลูคีเมียในแมว : เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อเรโทรไวรัส (Retrovirus) สามารถติดต่อจากแมวตัวหนึ่งไปสู่แมวตัวหนึ่งผ่านทางสารคัดหลั่งของร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็น น้ำลาย น้ำมูก ปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำนม มีราคาเริ่มที่ต้นที่เข็มละ 480 บาท

2. วัคซีนโรคทางเลือก

วัคซีนโรคทางเลือกจะเป็นวัคซีนที่จำเป็นสำหรับน้องแมวที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น แมวที่เลี้ยงแบบปล่อย ชอบเที่ยวเล่นข้างนอก ชอบทะเลาะกับแมวตัวอื่นเป็นประจำ มีรายละเอียดดังนี้

  • วัคซีนป้องกันโรคเอดส์แมว เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Feline Immunodeficiency Virus (FIV) สามารถติดต่อได้จากการที่แมวกันหรือข่วนกันจนมีบาดแผล หรือเกิดการสัมผัสน้ำลาย หรือเลือดของแมวที่ป่วยเป็นโรคเอดส์แมว จัดเป็นโรคที่ไม่มีวิธีรักษาเฉพาะเจาะจง และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีราคาเริ่มที่ต้นที่เข็มละ 500 บาท (ในปัจจุบันบริษัทยกเลิกนำเข้าวัคซีนเอดส์แมวเข้าประเทศไทยแล้ว)
  • วัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว จัดเป็นโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรงมาก เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีอัตรารอดชีวิตที่ค่อนข้างต่ำ มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสโคโรนาในแมว (feline coronavirus : FCoV) สามารถพบได้ในลำไส้ของแมวและก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารได้  มีราคาเริ่มที่ต้นที่เข็มละ 450 บาท

ควรเริ่มฉีดวัคซีนแมวเข็มแรกตอนไหนดี

เราจะเริ่มฉีดวัคซีนแมวเข็มแรกที่ตอนที่น้องแมวมีอายุ 8 สัปดาห์ โดยวัคซีนแมวเข็มแรกจะเป็นวัคซีนรวมในแมวที่สามารถป้องกันไข้หัดแมว โรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ช่องปาก และลิ้นอักเสบได้

ตารางการฉีดวัคซีนแมวโรคหลักในแต่ละช่วงอายุ

ช่วงอายุ (สัปดาห์)ชนิดของวัคซีนแมวที่ต้องฉีด
8 สัปดาห์วัคซีนรวมในแมว (ครั้งที่ 1)
12 สัปดาห์วัคซีนรวมในแมว (ครั้งที่ 2) + วัคซีนป้องกันโรคลูคีเมียในแมว (ครั้งที่ 1) + วัคซีนพิษสุนัขบ้า (ครั้งที่ 1)
16 สัปดาห์วัคซีนรวมในแมว (ครั้งที่ 3)+ วัคซีนป้องกันโรคลูคีเมียในแมว (ครั้งที่21) + วัคซีนพิษสุนัขบ้า (ครั้งที่ 2)
ทุก 1 ปีกระตุ้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนรวมในแมวและลิวคีเมีย

สำหรับวัคซีนทางเลือกอย่างวัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ จะสามารถเริ่มรับวัคซีนได้ตอนที่น้องแมวมีอายุตั้งแต่ 4 เดือน หรือ 16 สัปดาห์ขึ้นไป โดยวัคซีนจะเป็นแบบหยดจมูก รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง และระยะห่างระหว่างเข็มจะอยู่ที่ 1 เดือน หรือ 4 สัปดาห์

การเตรียมตัวก่อนพาน้องแมวไปฉีดวัคซีน

เพื่อการฉีดวัคซีนแมวเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย แนะนำให้เตรียมตัวน้องแมวด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • พาน้องแมวไปตรวจสุขภาพก่อน เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าน้องแมวมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงพอต่อการรับวัคซีน
  • สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องให้น้องแมวงดอาหาร
  • แนะนำให้พาน้องแมวไปอาบน้ำก่อน เพราะหลังจากที่ฉีดวัคซีนแมวแล้วจะไม่สามารถอาบน้ำได้อย่างน้อย 7 วัน
  • ควรเตรียมตะกร้า หรือกระเป๋าสำหรับน้องแมวให้พร้อม ไม่แนะนำให้อุ้มน้องแมว เพราะน้องแมวอาจตื่นกลัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ แล้วกระโดด หรือวิ่งหนีจนเกิดอุบัติเหตุได้

แนวทางการดูแลน้องแมวหลังจากฉีดวัคซีน

หลังจากฉีดวัคซีนแมวแล้ว พ่อแมวแม่แมวจะต้องเฝ้าดูแลอาการน้องแมวอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าหากเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายจะได้พาน้องแมวไปหาสัตวแพทย์ได้อย่างทันที 

สำหรับผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป ไม่เป็นอันตราย มีดังนี้

  • มีไข้อ่อน
  • มีอาการเซื่องซึม
  • มีอาการบวม หรือเจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีอาการผิดปกติหลังฉีดวัคซีนแมวจะต้องพาไปพบสัตวแพทย์ทันที

  • มีผื่นแดงขึ้นตามตัว
  • หายใจไม่สะดวก
  • บวมตามตัวหลายจุด และ/หรือบวมบริเวณใบหน้าและรอบดวงตา
  • ไอติดต่อกันไม่หยุด
  • ท้องเสีย ท้องร่วง และอาเจียน

นอกจากวัคซีนแมวแล้ว ต้องฉีดอะไรอีกบ้าง?

นอกจากวัคซีนโรคหลักและวัคซีนทางเลือก อีกสองสิ่งสำคัญที่พ่อแมวไม่ควรละเลยก็คือการพาน้องแมวไปฉีดยาป้องกันเห็บหมัดและพยาธิหนอนหัวใจทุกเดือน และถ่ายพยาธิทุก ๆ 3 เดือน เพื่อการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

ทำไมต้องตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีนป้องกันลูคีเมียในแมว?

วัคซีนป้องกันลูคีเมียในแมวจะสามารถป้องกันโรคได้เท่านั้น ไม่มีผลต่อการรักษา ถ้าหากตรวจเลือดแล้วพบการติดเชื้อก็จะไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นแล้ว ยังเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้น้องแมวมีอาการแย่ลงอีกด้วย

สรุปเรื่องวัคซีนแมว

เป็นอย่างไรกันบ้างกับข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนแมวที่เรานำมาฝากในบทความนี้ หวังว่าจะช่วยให้พ่อแมวแม่แมวมือใหม่เข้าใจเกี่ยวกับวิธีการฉีดวัคซีนแมวมากขึ้น สามารถพาน้องแมวไปฉีดวัคซีนในช่วงอายุที่เหมาะสมได้ เพื่อที่น้องแมวจะได้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคติดต่อร้าย และสามารถอยู่กับเราไปได้นาน ๆ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ของเราพร้อมให้การดูแลอย่างดีที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

รวมเรื่องต้องรู้ก่อนตัดสินใจทำหมันแมว
รวมเรื่องต้องรู้ก่อนตัดสินใจทำหมันหมา
รวมปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในหมาหน้าสั้น
รวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับโรคระบบประสาทในสุนัขและแมว
bg-banner-consult-doctor

ปรึกษาสัตวแพทย์

นัดหมาย